เผยแพร่:
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
บลูมเบิร์กเผยจากการจัดอันดับ “มหาเศรษฐีโลก ประจำปี 2020” โดยซีพีของตระกูลเจียรวนนท์ มีธุรกิจใน 22 ประเทศ มีทรัพย์สินมูลค่ารวม 30.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 982,400 ล้านบาท ได้อันดับที่ 21 พร้อมยกเป้าหมายความยั่งยืนโบกธงไทยในต่างแดน
ธุรกิจซีพีกว่า 22 ประเทศ ดันตระกูลเจียรวนนท์ ได้อันดับที่ 21 จากการจัดอันดับ “มหาเศรษฐีโลก” ประจำปี 2020 โดยบลูมเบิร์ก พร้อมยกเป้าหมายความยั่งยืนโบกธงไทยในต่างแดน
รายงานข่าวจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ ระบุว่า ปี 2020 ถือเป็นปีที่มีความท้าทายในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไว้รัสโควิด-19 ที่กระทบต่อหลายธุรกิจทั่วโลก อย่างไรก็ดี หลายตระกูลมหาเศรษฐีทั่วโลก ต้องมีการปรับตัวกับสถานการณ์ที่กระทบการลงทุนใหม่ กระทบต่อธุรกิจในปัจจุบัน และที่สำคัญ กระทบต่อพนักงานในองค์กร ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย บริษัทที่ติดอันดับดีที่สุดจากการจัดอันดับโดย บลูมเบิร์ก ซึ่งเปิดเผยผลจัดอันดับคนรวย โดยในปีนี้ “วอร์ตัน” เจ้าของกิจการวอลมาร์ท (Walmart) ยังครองแชมป์มหาเศรษฐีโลกมีทรัพย์สิน 215 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6,880,000 ล้านบาท ซึ่งถือได้ว่า เป็นตระกูลที่บริหารธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุด มีสาขากว่า 11,000 สาขาทั่วโลก
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานการจัดอันดับมหาเศรษฐีโลก เดือนสิงหาคม ปี 2563 โดยบลูมเบิร์ก ระบุว่า อันดับที่ 21 เป็นของตระกูลเจียรวนนท์ มีทรัพย์สินมูลค่ารวม 30.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 982,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นธุรกิจที่เริ่มต้นในประเทศไทย และได้ขยายการลงทุนไปกว่า 22 ประเทศทั่วโลก โดยล่าสุด ได้ขยายธุรกิจฟาร์มกุ้งไปในประเทศสหรัฐอเมริกา และมีธุรกิจด้านอาหารทั้งในอเมริกาและยุโรป ทำให้รักษาการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เครือซีพี ได้มีธุรกิจที่หลากหลาย อาทิ เกษตร อาหาร ค้าปลีก สื่อสาร และ ธุรกิจอื่นๆ ในหลายประเทศ โดยมีการนำธงชาติไทยไปติดในทุกสำนักงานที่ไปลงทุน นอกจากนี้ ในปี 2020 เครือซีพีได้ประกาศนโยบายความยั่งยืนสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ และ การบริหารจัดการของเสียเป็นศูนย์ ซึ่งถือว่า เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้บริจาคเงินช่วยเหลือสังคมในประเทศไทย รวมยอดกว่า 700 ล้านบาท เงินลงทุนดังกล่าว แบ่งเป็น สร้างโรงงานหน้ากากอนามัยฟรี 100 ล้านบาท พร้อมเพิ่มงบผลิตหน้ากากอีก 75 ล้านบาท บริจาค อุปกรณ์การแพทย์ 30 ล้านบาท, โครงการมอบอาหารต้านภัยโควิด-19 ให้บุคลากรการแพทย์และผู้ถูกกักตัว 200 ล้านบาท, มอบ 77 ล้านบาท ให้กับ 77 โรงพยาบาลและโครงการอื่นๆ 176.60 ล้านบาท, แจกอุปกรณ์สื่อสารให้กับโรงพยาบาลทั้ง ดาต้า หุ่นยนต์ ซิม และอินเทอร์เน็ต 12 ล้านบาท รวมถึงมีการประกาศนโยบายไม่เลิกจ้างพนักงาน ซึ่งปัจจุบันเครือซีพีมีพนักงานกว่า 400,000 คนทั่วโลก ซึ่งได้ทำการส่งออกสินค้าไปยังกว่า 100 ประเทศทั่วโลก