ปัจจุบัน ผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลกต่างพากันผลักดันเครือข่าย “5G” ที่นอกจากจะมอบความเร็วของการเชื่อมต่ออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ยังช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สร้างรายได้ รวมถึงช่วยให้ภาคธุรกิจในประเทศฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ได้เร็วขึ้น นี่อาจเป็นคำตอบสำหรับประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างสมบูรณ์แบบ รวมทั้งเป็นโอกาสให้ประเทศไทยฟื้นตัวกลับมาเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างเต็มตัว
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้กล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยี 5G ต่อประเทศไทยว่า “5G จะเป็นสิ่งที่มาเปลี่ยนวิถีชีวิตและวิธีบริหารประเทศของไทยทั้งหมด โดยจะไม่ได้ขับเคลื่อนเฉพาะเครือข่ายมือถือ รัฐบาลไทยเตรียมนำเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้กับการทำสมาร์ทซิตี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการศึกษา และที่สำคัญที่สุดคือภาคการเกษตร โดยรัฐบาลต้องการพัฒนา 5G ทำให้ใช้งานได้ทั้งประเทศ เพราะเรามองว่าข้อมูลคือสิ่งสำคัญที่สุดในการแข่งขันทางธุรกิจ ทั้งยังสำคัญต่อขีดความสามารถด้านการแข่งขันระหว่างประเทศ”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานของภาครัฐคือ การใช้งานในภาคสาธารณสุข ซึ่งช่วงที่เกิดสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยได้ใช้โซลูชัน AI จากหัวเว่ยในการช่วยรับมือกับไวรัสดังกล่าว โดยใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของผลการตรวจ CT scan ผู้ป่วยโควิด-19 จากประเทศจีนนับหมื่นราย นำมาเปรียบเทียบกับผลตรวจของผู้ป่วยในไทยเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด ซึ่งระบบนี้มีความแม่นยำในการตรวจถึง 96% และยังช่วยแบ่งเบาภาระ รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในไทยได้อย่างมาก
ทั้งนี้ อุปกรณ์ที่สามารถใช้งานได้กับเทคโนโลยี 5G ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่โทรศัพท์มือถือเหมือนในยุคก่อน แต่ยังครอบคลุมไปถึงอุปกรณ์ไอทีสำหรับผู้บริโภค สำหรับการใช้งานในองค์กร และการใช้งานในภาคการผลิต โดย
นายวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในยุคของ 5G อุปกรณ์ที่มีการรองรับการใช้งาน 5G จะมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G และอุปกรณ์ประเภท 5G CPE ที่ทำการเปลี่ยนสัญญาณ 5G ให้เป็นสัญญาณไวไฟเพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อ อุปกรณ์แวเรเบิลดีไวซ์ แว่น VR/AR ไปจนถึงอุปกรณ์ 5G Module ที่นำไปใช้งานร่วมกับระบบหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด
“ภายในปี 2020 เราจะเห็นผลิตภัณฑ์มือถือที่รองรับการใช้งานบนเทคโนโลยี 5G มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และราคาอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งาน 5G ก็จะลดลง ซึ่งจะทำให้มีจำนวนผู้ใช้งาน 5G ในประเทศไทยแพร่หลายยิ่งขึ้น นอกจากเทคโนโลยี 5G จะช่วยยกระดับด้านเครือข่ายการเชื่อมต่อ และทำให้อุตสาหกรรมในประเทศไทยมีความชาญฉลาด 5G ยังจะช่วยทำให้เกิดการสร้างรายได้ในอีก 3 มิติ อันได้แก่ มิติจากการสร้างรายได้จากประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้นอันเกิดจากความเร็วในการเชื่อมต่อที่สูงขึ้นและมีค่าความหน่วง (Latency) ต่ำลง มิติจากการสร้างรายได้จากปริมาณการใช้งานข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น จากการใช้งานแอพพลิเคชั่นและสื่อออนไลน์รูปแบบใหม่ๆ และมิติจากการสร้างรายได้ด้วยการรองรับปริมาณการเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้าผู้ใช้งานบนเครือข่ายให้มากขึ้นกว่าเดิม”
นายวรกานมองว่าประเทศไทยค่อนข้างก้าวหน้าในการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ และมีผลงานที่ดีในการผลักดัน 5G ในช่วง 6 เดือนหลังจากเสร็จสิ้นการประมูลคลื่นความถี่ เห็นได้จากการใช้งานโซลูชั่นรูปแบบใหม่ที่หลากหลายในภาคสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี CLOUD และ AI บน 5G สำหรับใช้ตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโควิด-19, การติดตั้งเครือข่าย 5G เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อให้แก่ระบบของโรงพยาบาล หรือการใช้หุ่นยนต์ขนส่งอุปกรณ์เวชภัณฑ์ผ่านการเชื่อมต่อเครือข่าย 5G เป็นต้น ทั้งนี้ การประยุกต์ใช้ 5G ในภาคสาธารณสุขยังสามารถขยายผลไปใช้งานในรูปแบบอื่นได้อีก ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดทางไกล การให้คำปรึกษาทางไกลระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกันหรือระหว่างแพทย์กับคนไข้ หรือแม้แต่การนำหุ่นยนต์มาใช้ฆ่าเชื้อและตรวจผู้ป่วยในอนาคต
“ตอนนี้เรามีเทคโนโลยีที่ดีอยู่กับประเทศไทย หากประเทศไทยสามารถผลักดันอีโคซิสเต็มของ 5G ซึ่งประกอบด้วยโอเปอเรเตอร์หรือผู้ให้บริการโครงข่าย ผู้ให้บริการโซลูชั่น ภาคอุตสาหกรรมแนวดิ่ง พาร์ทเนอร์รายย่อย และภาครัฐหรือสมาคมในอุตสาหกรรม ให้ช่วยกันส่งเสริมการใช้งาน 5G ไปพร้อมกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมซึ่งน่าจะได้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี 5G รวมทั้งผลักดันทักษะด้านดิจิทัลของทรัพยากรบุคคล สิ่งเหล่านี้จะช่วยพาประเทศไทยเข้าสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะ 5G ไม่ได้เป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง ต้องใช้ความร่วมมือ
การประสานงานร่วมกันจากผู้ที่ใช้งาน 5G จริงๆ จึงจะสามารถดึงศักยภาพของมันออกมาให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด” นายวรกานกล่าวปิดท้าย